วิเคราะห์เจาะลึก โดย. ตูแวดานียา ตูแวแมแง

การปฏิบัติการจู่โจมต่อเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่ อส.ฝ่ายปกครอง ณ ที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นก้าวขยับของ BRN อย่างมีนัยยะสำคัญมากต่ออนาคตสันติภาพชายแดนใต้ของประเทศไทยและสันติภาพชายแดนภาคเหนือของประเทศมาเลเซีย
อาจจะมีหลายคนหลายฝ่าย "ไม่กล้าฟันธง" ว่าเป็นฝีมือ BRN และมีหลายคนหลายฝ่ายที่คลางแคลงใจไปว่าน่าจะเป็นการ "สร้างสถานการณ์" กันเองจากกลุ่มคนในฝั่งของรัฐที่ได้ประโยชน์จากความยืดเยื้อคาราคาซังของสถานการณ์ไฟใต้ หรือไม่
เหตุผลหลักที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานว่าการปฏิบัติการจู่โจมในครั้งนี้ไม่ใช่ฝีมือ BRN 1 เพราะว่า BRN ไม่ได้ประกาศยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุ 2 เพราะว่าทางหนีทีไล่ทั้งทางเข้าเมืองและทางออกจากเมืองเต็มไปด้วยด่านตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลุ่มผู้ก่อเหตุก็ยังก่อเหตุได้ หนำซ้ายังถอยร่นได้อย่างปลอดภัยกันทุกคน
สำหรับผู้เขียนแล้ว ผู้เขียนขอฟันธงชัดๆเลยว่าเป็นฝีมือของกองกำลัง BRN ล้านเปอร์เซนต์ เพราะในจำนวนหมื่นๆเหตุการณ์ทั้งลอบยิงและวางระเบิด ตลอดจนการเข้าจู่โจมที่ตั้งฐานของเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันปี 2568 ไม่เคยมีปรากฎขึ้นมาเลยแม้แต่ครั้งเดียวว่า BRN ออกมายอมรับว่าพวกเขาคือผู้ก่อเหตุ
แต่ทางการไทยโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงก็ยอมรับมาโดยตลอดว่ากลุ่มขบวนการเพื่อเอกราชปาตานีที่เข้มแข็งและมีศักยภาพมากที่สุดก็คือขบวนการ BRN
ส่วนที่ว่า "ทางหนีทีไล่" ในเมืองสุไหงโก-ลกเต็มไปด้วยด่านตรวจของเจ้าหน้าที่รัฐ กองกำลัง BRN จะเข้าจะออกอย่างปลอดภัยได้อย่างไรนั้น
สมมุติฐานนี้สำหรับคนที่ไม่มีข้อมูลทางลึก ก็คงคิดว่าเป็นตรรกะที่สมเหตุสมผลทีเดียวที่กลุ่มผู้ก่อเหตุนั้น อาจจะเป็นกลุ่มคนในฝั่งของรัฐด้วยกัน
ผู้เขียนได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวความมั่นคงที่น่าเชื่อถือว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุที่ปฎิบัติการจู่โจม อส.ในที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลกครั้งนี้นั้น แท้จริงแล้วคือหน่วยกองกำลังชุดใหม่ของ BRN ที่เรียกว่า "มินิคอมมานโด" นั่นเอง
แน่นอนว่าการวางแผนเพื่อปฏิบัติการจู่โจมต่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่ อส. ณ ที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก ให้ประสบความสำเร็จและปลอดภัยนั้น คงไม่เกิน "ศักยภาพขีดความสามารถ" ของหน่วย "มินิคอมมานโด" ที่เพิ่งจบจากการฝึกมาใหม่ๆสดๆ อยู่แล้ว
โจทย์สำคัญที่สุดคือ BRN หวังผลอะไรกับปฏิบัติการในครั้งนี้? แล้วทำไม BRN ไม่สื่อสารออกมาตรงๆเสียเลยว่าที่พวกเขาทำไปนั้น พวกเขาต้องการอะไร?
ในความเป็น "องค์กรลับ" ที่รัฐไทยยังไม่ยอมรับสถานะการเป็น "คู่เจรจา" นั้น BRN จะสื่อสารชี้แจงตรงไปตรงมาได้อย่างไร เพราะอาจจะกระทบต่อยุทธศาสตร์ของความเป็นองค์กรลับ ที่ยังไม่พร้อมจะรับผิดชอบในผลลัพธ์ของการใช้ความรุนแรงหรือไม่ แต่สาระสำคัญของการก่อเหตุในครั้งนี้คือ ถือว่าเป็นการ "สื่อสารแรงๆ" ไปยังรัฐบาลไทย และรัฐบาลไทยก็ "ยอมรับโดยพฤตินัย" ด้วยว่าเป็นฝีมือของ BRN จริง ก็ถือว่าพวกเขาทำภารกิจสำเร็จแล้ว
BRN หวังผลอะไรกับการก่อเหตุในครั้งนี้ โจทย์นี้จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เป้าหมายการต่อสู้ของ BRN คือปาตานีเป็น "รัฐเอกราชใหม่" ใช่หรือไม่ และเป้าหมายเพื่อเอกราชของ BRN นั้นเริ่มตั้งแต่หลังจากที่ "ฮัจยีสุหลง" และ "ตึงกูมะฮฺมุดมะฮฺยิดดีน" ไม่ประสบความสำเร็จในการ "ร้องขอ" ให้มีการ "ปรับโครงสร้าง" อำนาจการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรมและศาสนา
"ฮัจยีสุหลง" ถูกอุ้มหายและ "ตึงกูมะฮฺมุดมะฮฺยิดดีน" ก็เสียชีวิตในปีเดียวกันคือปี พ.ศ.2497 ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2503 บรรดาผู้นำศาสนาและปัญญาชนมลายูปาตานีที่เคยร่วมขบวนกับฮัจยีสุหลงและตึงกูมะฮฺมุดมะฮฺยิดดีน ก็ได้รวมตัวกันก่อตั้งขบวนการ BRN ขึ้นมา
นับตั้งแต่วันแรกที่ทราบข่าวว่าฮัจยีหลงถูกอุ้มหายไป พวกเขาเหล่าผู้นำศาสนาและปัญญาชนที่มีทั้งเป็นมิตรสหายและลูกศิษย์ลูกหาของฮัจยีสุหลง ก็ปักธงเป้าหมายสูงสุดในการต่อรองกับรัฐไทยคือ "ปาตานีเป็นเอกราช" ด้วยแนวทางการต้อสู้แบบ "องค์กรลับติดอาวุธ" เพราะถ้าพวกเขาไม่เป็นองค์กรลับ พวกเขาก็จะถูกทางการไทย "ปราบปราม" จนหมด
ท่าทีการ "ปราบราม" ของรัฐที่มีต่อพวกเขาดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน พวกเขาจึงไม่สามารถเปลี่ยนจากองค์กรลับมาเป็น "องค์กรเปิด" ได้ เพราะสถานะของพวกเขาในสายตาของทางการไทยนั้นก็คือผู้ก่อความไม่สงบ ผู้ก่อเหตุรุนแรง ไม่ใช่ "คู่เจรจา" แต่อย่างใดไม่
หากทางการไทย "ยอมรับ" สถานะ BRN เป็น "คู่เจรจา" อย่างเป็นทางการ พวกเขาอาจจะ "ไม่ทะเยอทะยาน" เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการ "จัดการตนเอง" อย่างมีความสุขและมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ด้วยเส้นทางที่จะต้องไปให้ถึงสถานีปลายทางที่ชื่อว่า 'เอกราช" เพียงสถานเดียวก็ได้ แต่ในความเป็นจริงจนถึงตอนนี้ทางการไทยก็ยังคงเน้นการแก้ปัญหาชายแดนใต้ด้วย "การทหารนำการเมือง" รูปธรรมก็คือ ยังคงมีการบังคับใช้กฎอัยการศึก พรก.ฉุกเฉิน และ พรบ.ความมั่นคง
ฉะนั้นแล้วด้วยบริบทสภาพความเป็นจริงจากท่าทีทางการเมืองของทางการไทยที่ "ปิดประตู" ทุกช่องในทางการเมืองภายใต้หลัก "นิติรัฐ" พวกเขา BRN ก็จำเป็นจะต้องต่อสู้อย่างสุดชีวิตและสุดความสามารถเพื่อที่จะได้ทะลุทะลวง 'กำแพง" แห่งนิติรัฐไทย แล้ว "เปิดทาง" ให้ "มหาอำนาจ" เข้ามาช่วยคลี่คลายความขัดแย้งอันยาวนานนี้
โดยที่มหาอำนาจรับบทบาทเป็น "คนกลาง" กดดันทางการไทยให้ยอมรับ BRN เป็น 'คู่สงคราม" และเป็น "คู่เจรจา" และสุดท้ายอาจจบด้วยการกดดันให้ทางการไทยต้องทำ "ประชามติเอกราช" ก็เป็นได้ หรือไม่ และปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลง "ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่" ต่อพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี จนถึงขั้นเป็น "ออโตโนมี"หรือเป็น "รัฐเอกราชใหม่" ในแผนที่โลกนั้น อาจจะส่งผลให้ "มหาอำนาจอเมริกา" ได้เปรียบมากกว่า "มหาอำนาจจีน" ในมิติยุทธศาสตร์ความมั่นคงต่อภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกเลยก็ว่าได้
แต่ขั้นบันไดขั้นแรกก่อนที่จะไปถึงขั้น BRN เป็นคู่สงคราม เป็นคู่เจรจา นั้น BRN จะต้องทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งที่ "มหาอำนาจ" ยังไม่มีความชอบธรรมที่จะเข้ามา "แทรกแซง" ได้เพราะติดในเรื่อง 'บูรณภาพแห่งดินแดน" ให้มหาอำนาจได้มีความชอบธรรมเสียก่อน นั่นคือ "ยกระดับ" สถานการณ์ความขัดแย้งที่ "รัฐควบคุมได้" ให้เป็นความขัดแย้งที่ "รัฐควบคุมไม่ได้" นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า "สงครามกลางเมือง" หรือไม่
ในทาง "ยุทธศาสตร์" นั้น พวกเขา BRN หวังผลจากปฏิบัติการจู่โจมของหน่วย "มินิคอมมานโด" ครั้งนี้ เพื่อก้าวกระโดดดึง "มหาอำนาจ" เข้ามาช่วยสานฝันให้ เป็นจริง หรือไม่
ในทางยุทธวิธีนั้น 1 พวกเขาเลือกเป้าหมายในการจู่โจมที่ "อ่อนแอ" ที่สุด ถ้าเทียบกับบรรดากองกำลังของรัฐที่มีอยู่ทั้งหมด นั่นคือ อส.ฝ่ายปกครอง
2 พวกเขาเลือกช่วงเวลาที่ตรงกับเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ทุกองคาพยพของ BRN มีวินัยมากที่สุด และเผอิญว่าเดือนรอมฎอนทั้งเดือนปีนี้ตรงกับวันสำคัญๆของชนชาติมลายูปาตานีและBRN อีกด้วย คือ 10 มีนาคม ตรงกับวันครบรอบ 116 ปี สนธิสัญญา Anglo- Siamese Treaty , 12 มีนาคม ตรงกับ 11 รอมฎอน ซึ่งเป็นวันครบรอบ 21 ปีเหตุการณ์ตากใบ และ 13 มีนาคม เป็นครบรอบ 65 ปี วันก่อตั้ง BRN
และ 3 ในทางยุทธวิธีของมิติการชี้ให้เห็นว่าทางการไทยนั้นยังไม่มี "เจตจำนงทางการเมือง" ที่ชัดเจนและหนักแน่นมากพอที่จะตัดสินใจ เลือกใช้้ "การเมืองนำการทหาร" ด้วยการยอมรับ BRN เป็น "คู่เจรจา"
พวกเขา BRN ก็เลือกช่วงเวลาในการปฏิบัติการครั้งนี้ตรงกับช่วงเวลาที่ "ฝ่ายความมั่นคงขั้วอำนาจเก่า" ได้ล้ำเส้นกรอบโร๊ดแม็ปของ "อำนาจฝ่ายบริหาร" ที่กำลังฝากความหวังและเชื่อมั่นในการนำของ "ทักษิณ" ในฐานะเป็น "ที่ปรึกษาประธานอาเซียน" หรือไม่
จนมีข่าวลือว่าคนที่เป็นกระแสสูงว่าจะมาเป็น "หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย" ได้รับการแนะนำจาก สมช. ให้ไปเสนอต่อรองกับทาง BRN ผ่านทาง "ฮาซัน ตอยิบ" ว่าให้ทาง BRN หยุดยิงชั่วคราวในช่วงเดือนรอมฎอน หรือเรียกว่า "รอมฎอนสันติ" ให้ได้เสียก่อน ทางการไทยถึงจะมีการสานต่อการพูดคุยสันติภาพกับ BRN
ทาง BRN ก็ส่งข้อความมายัง "ว่าที่" หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยนั้นว่า จะให้เราหยุดยิงชั่วคราวในเดือนรอมฎอนได้ แต่ทางการไทยจะต้อง "ปล่อยตัว" จำเลยคดีความมั่นคงจำนวน 200 คน ออกจากเรือนจำเสียก่อน
จากนั้นการสื่อสารระหว่างว่าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยคนนั้นกับทาง BRN ผ่านทาง ฮาซัน ตอยิบ ก็เงียบหายไปในสายลม กระทั่งเกิดปฏิบัติการจู่โจมเป้าหมายที่เจ้าหน้าที่ อส. ณ ที่ว่าอำเภอสุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
#วิเคราะห์เจาะลึก #ถอดรหัสปฏิบัติการจู่โจม #ที่ว่าการอำเภอสุไหงโกลก #กระบวนการพูดคุยสันติภาพ #ตูแงดานียาตูแวแมแง #ThePoligensNews