นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะ กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ข้อค้นพบรากเหง้าความขัดแย้ง ที่ทำให้ไฟใต้ยังไม่มอด ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) มี Pattern บางอย่างที่คล้ายกับความขัดแย้งในการเมืองไทย คือความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นโดยประชาชนก่อน ถ้าสรุปบางแง่มุมแบบเร็ว ๆ คือเกิดจากการเรียกรร้องของประชาชน แต่โดนรัฐปราบ และพัฒนาไปเป็นความขัดแย้ง แล้วก็มีการเรียกร้องอีก ก็ปราบอีก ที่ทั้งหมดเกิดซ้ำและยืดเยื้อ
มีบางส่วนที่คล้ายกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่มีการเรียกร้องต่อสู้ทางการเมือง, เผชิญกับการปราบ และมีเรื่องอุดมการณ์และการเมืองเข้ามาเกี่ยว แต่อุดมการณ์เป็นคนละประเด็นกับ จชต. เช่น เรื่องประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม
สำหรับ จชต.เรียกร้องเพื่อต้องการการคุ้มครองในด้านประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ พวกเขาต้องการรักษาเอกลักษณ์นี้ ซึ่งพัฒนาเป็นอุดมการณ์อย่างหนึ่ง แต่พอคน จชต.เรียกร้องก็เจอกับการปราบ ถ้าพูดประวัติศาสตร์ระยะสั้นเริ่มตั้งแต่ “หะยีสุหลง” ประชาชนเสนอข้อเรียกร้องซึ่งเกิดจากที่เขาดูว่าชาติพันธุ์นี้ ประชาชนที่นี้มีภาษามาลายูเดียวกันและศาสนาอิสลาม แล้วอยู่กับการปกครองที่ไม่สอดคล้องกับอักลักษณ์
ประชาชนเรียกร้องเพราะต้องการการปฏิบัติจากรัฐที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ สุดท้ายเจอกับการปราบจนกระทั่งถูกตัดสินจำคุก แต่แค่นั้นยังไม่พอยังถูกจับไปฆ่า กลายเป็นการเริ่มต้นของการต่อสู้และความรุนแรงจากผู้ที่ใกล้ชิดร่วมอุดมการณ์ เพราะพวกเขาก็มีข้อสรุปว่า ถ้าเมื่อเรียกร้องแค่โดยการยื่นหนังสือยังเจอการปราบแบบนี้ ไม่รู้ว่าสู้ต่อไปแบบนี้จะถูกฆ่าอีกหรือเปล่า ก็นำไปสู่การหลบหนีกันไป
ซึ่งเทียบเคียงก็คล้ายกับ 6 ตุลา 2519 เพียงแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ การต่อสู้หลังจากนั้นจบไปเพราะว่าอุดมการณ์สังคมนิยมทั่วโลกพังทลาย พรรคคอมมิวนิสต์ก็ค่อยๆล้มไป ไม่มีใครที่จะชูอุดมการณ์อะไรได้อีก แต่ที่ จชต. มันไม่ล้มไปแบบนั้น ความคิดอัตลักษณ์ ความคิดทางศาสนา ความคิดในเรื่องภาษา ความต้องการให้ประชาชนที่นั่นดูแลตัวเองได้ยังคงอยู่
เมื่อปราบแล้ว รัฐไทยยังพัฒนากฎหมายไปจนเข้มข้นเป็นกฎหมายความมั่นคง 2-3 ฉบับและมีกฎอัยการศึก แม้ยุทธศาสตร์ของรัฐจะเขียนออกมาอย่างไร มันก็กลายเป็นยุทธศาสตร์ของการปราบศัตรูฝ่ายตรงข้าม ปราบผู้ที่มาก่อความไม่สงบ ซึ่งลึกๆ ทางทหารก็คงบอกว่าเป็นการก่อการร้ายด้วยซ้ำ แต่ขณะเดียวกันทหารก็ขอให้พวกเราที่เป็นกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎรอย่าใช้คำว่าก่อการร้าย เพราะเดี๋ยวจะเป็น Terrorism แล้วต่างประเทศก็จะเข้ามา
แต่จริงๆระบบกฎหมายและยุทธศาสตร์รัฐคิดแบบนั้น ทั้งระบบกฎหมายที่เป็นอยู่มันทำให้คิดแบบนั้น และรัฐก็คิดแบบนั้นเองด้วย เลยสร้างกฎหมายเหล่านี้ขึ้นมา ทั้ง 2 ส่วน ไม่มีอันไหนเกิดก่อนหรือหลังแต่มีผลที่สอดคล้องกัน
นี่คือ สภาพที่เกิดขึ้นและเป็น Pattern ซ้ำๆ แม้ความรุนแรงลดลงมาพอสมควร เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ และเงื่อนไขความขัดแย้งและเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรงมันยังมีอยู่จำนวนมาก
กลืนอัตลักษณ์ กฎหมายพิเศษ และการรวมศูนย์อำนาจ
เรื่องใหญ่คือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ มีพื้นที่เดียวในประเทศไทยที่เป็นแบบนี้ พูดภาษาเดียวกันที่ไม่ใช่ภาษาไทย และก็ไม่คล้ายกับที่อีสานและเหนือที่แต่ก่อนภาษาไม่เหมือนไทยภาคกลางสักทีเดียว แต่ปรับเปลี่ยนง่าย แล้วบังเอิญว่าอีสานกับเหนือก็นับถือศาสนาพุทธ หรือ จชต.ไม่คล้ายกับคนจีนในไทย เพื่อนผมที่เป็นคนจีนเยาวราชก็บอกว่าตนเองพูดภาษาไทยไม่ได้มาจนอายุ 5 ขวบ แต่มีโอกาสพบกับคนที่มาซื้อขายกันก็ได้ใช้ภาษาไทยในการค้าขาย
แต่พื้นที่ จชต.ประชาชนพูดภาษามลายูอยู่ด้วยกันหนาแน่น 80-90% และนับถืออิสลาม พวกเขาไม่ได้มีโอกาสที่จะใช้ภาษาไทยแบบคนจีนเยาวราช สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความผิด แต่เขามีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนที่อื่น
รัฐของประเทศไทยปฏิบัติต่ออีกหลายพื้นที่ในประเทศนี้ โดยการกลืนอัตลักษณ์ ทำให้กลมกลืนและกลืนกลาย อาจจะดีบ้างไม่ดีมาก หรือทำโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ประชาชนที่ถูกกลืนอาจจะมีบางส่วนที่รู้สึกไม่พอใจ ว่าวัฒนธรรมของฉันหายไป แต่พื้นที่ตรง จชต. รัฐไทยเหมือนกับไม่มีความรู้ ขาดความเข้าใจที่จะไปดูแลรับมือ ก็ไปจัดความสัมพันธ์อีกแบบนึง
ที่ควรเกิดขึ้นคือ รัฐไทยต้องจัดความสัมพันธ์ที่ทำให้อยู่ด้วยกันได้โดยสมัครใจ ซึ่งทำได้โดยการให้ประชาชนที่นี่รักษาอัตลักษณ์เขาได้ อยู่ด้วยความภูมิใจ อยู่ด้วยความว่าฉันคือคนมาลายูในประเทศไทย ฉันนับถือศาสนานี้ ฉันมีวัฒนธรรมนี้ วันนึงเวลามีงานก็สามารถแต่งกายเป็นมลายูได้ รัฐต้องเห็นเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม เพราะนี่ก็คือคนที่ยังรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมของตนเองได้
แต่รัฐไทยที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่สมัย จอมพล ป.ที่ให้แต่งกายเป็นไทย ซึ่ง “ไทย” นั้นคืออะไรก็ไม่รู้มีการบอกให้ผู้ชายใส่กางเกง ผู้หญิงนุ่งกระโปรง ให้สวมหมวก และก่อนออกจากบ้านให้หอมแก้มกัน… ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่ไทยเลย แต่รัฐบอกว่าอันนี้คือความเป็นไทย ถ้าไปใช้พื้นที่อื่นก็อาจจะดูตลกบ้าง เช่นพ่อผมอยู่ฉะเชิงเทราก็อาจจะบอกว่า “นี่คืออะไรก็ไม่รู้” ส่วนแม่ผมก็ยังนุ่งผ้าถุงอยู่ต่อไปตั้งแต่สาวจนแก่ แต่การทำให้ “เป็นไทย” ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มันไม่ได้แค่เรื่องที่ดูตลก
รวมถึงนโยบายส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ต้องนิยมภาษาไทย ฟังดูเผินๆอาจจะรู้สึกโอเค แต่พอไปใช้ในพื้นที่ที่ตั้งแต่เด็กจนโตเขาพูดภาษามลายู แล้วมันเป็นธรรมชาติอย่างนั้นไม่ใช่ความผิดของใคร เป็นเรื่องธรรมชาติมากที่ควรจะเข้าใจได้ แต่รัฐไทยกลับไม่เข้าใจ พอเป็นอย่างนี้มันพัฒนาไปสู่ยุทธศาสตร์และการใช้กฎหมายบังคับ
เกิดกฎหมายพิเศษที่ยิ่งใช้ไปอาจจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบางอย่างได้ ช่วยลดความไม่สงบลงได้บ้าง แต่ในตัวของมันเองมันมีธรรมชาติที่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน มันเป็นกฎหมายที่ไปยกเว้นสิทธิของประชาชนในการสู้คดี ในการเข้าสู่ขบวนการยุติธรรม ก็กลายเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งที่ไม่มีทางสิ้นสุด
และเรายังพบว่า 20 ปีมานี้มันได้พัฒนาไปสู่จุดที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่เดียวที่มีระบบการปกครองที่รวมศูนย์ที่สุด โดยมีองค์กรระดับชาติอย่างน้อย 3 องค์กร คือสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้กำหนดนโยบายด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนา และด้านเศรษฐกิจ และยังจัดหน่วยงานส่วนหน้า เช่น การศึกษาส่วนหน้า กอ.รมน.ส่วนหน้า ซึ่งไม่มีที่ไหนในประเทศไทยที่ใช้องค์กรระดับประเทศแบบนี้ นำโดยนายกรัฐมนตรีไปครอบพื้นที่เอาไว้
ผมชอบใช้คำพูดว่าถ้าลงไปพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว จะพบว่าผู้ราชการจังหวัดตัวนิดเดียวแค่หันมามองพลโท-พลตรีสักคน ผู้ว่าฯก็ไม่กล้าพูดอะไรแล้ว ไม่นับนายก อบจ.นายกเทศมนตรี ผู้นำองค์กรท้องถิ่น เขาจะไปอยู่ตรงไหนในเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดยังตัวเล็กนิดเดียว จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถกำหนดวิถีชีวิต สามารถกำหนดการใช้ทรัพยากร สามารถกำหนดกฎเกณฑ์กติกาต่างๆให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม สอดคล้องกับศาสนาและอัตลักษณ์ของเขาได้
ดังนั้นเราจะออกจากความรุนแรงได้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร รัฐต้องจัดความสัมพันธ์กับจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียใหม่ให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่แค่การทำให้มีการไปเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดกันเท่านั้น แต่ต้องเปลี่ยนมุมมองของรัฐโดยเลิกคิดว่าต้องทำให้เขาเหมือนกับคนในภาคอื่นๆ เลิกคิดว่าให้เขามีความเป็นไทยอย่าเป็นมลายู ซึ่งแค่คิดก็ผิดแล้ว
การที่เราจะออกจากความขัดแย้งนี้ได้ รัฐต้องจัดความสัมพันธ์ให้เขามีเอกลักษณ์มีอัตลักษณ์ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ประชาชนในพื้นที่เองที่ต่างอัตลักษณ์ต่างวัฒนธรรมก็ต้องการการพูดคุยการแลกเปลี่ยนกัน แล้วสุดท้ายคือ "คุณต้องให้ประชาชนเป็นเจ้าของสังคม" พอผมพูดแบบนี้คนก็จะบอกว่า “เรื่องอะไรทำไมต้องให้คนจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเจ้าของจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเลย แล้วไม่ใช่ของคนอื่นหรือไง?” ผมก็เลยเติมข้อความอีกคำนึงเข้าไปคือ “ต้องให้คนจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของสังคม เป็นเจ้าของพื้นที่ และเป็นเจ้าของประเทศไทย เช่นเดียวกันกับคนไทยทุกคนในประเทศไทย” Concept “ความเป็นเจ้าของ” คือแบบนี้ แล้วมันถึงจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปใช้ความรุนแรงสู้กัน เหตุการณ์ความไม่สงบมันจะลดลง ต้องเปิดโอกาสให้ผู้คนคุยกันได้ เปิดโอกาสให้คนที่ต้องการเรียกร้องต่อสู้ได้เรียกร้องได้ต่อสู้เต็มที่โดยสันติวิธี หรือมีพื้นที่ทางการเมืองในการต่อสู้
ต้องทำให้ประชาชนอยู่อย่างสมัครใจเต็มใจ เนื่องจากรู้สึกว่าต่อไปนี้การแก้ปัญหาบ้านเมืองก็ดี การพัฒนาก็ดีจะเป็นเรื่องที่เขามีส่วนร่วมกำหนดอย่างมาก และการพัฒนาทั้งหลายจะเป็นประโยชน์ต่อเขาและลูกหลานเขาอย่างมาก ถ้าไปถึงจุดนั้นกฎหมายความมั่นคงพิเศษต่าง ๆ จะค่อยๆ ทยอยถอนออกไปในพื้นที่ และจัดการการบริหารปกครองอีกแบบหนึ่ง
ดูน้อยลง