ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้“ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรง พร้อมส่งสัญญาณใช้กลไก สภาฯ ศอ.บต.ดึงทุกภาคส่วนแก้ไฟใต้รอบใหม่”

แถลงการณ์ประณามการก่อเหตุรุนแรง สถานการณ์ชายแดนใต้

23 เมษายน 2568 นายขดดะรี บินเซ็น ประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรง พร้อมส่งสัญญาณดึงทุกภาคส่วนแก้ไฟใต้รอบใหม่”

ในแถลงการณ์ ได้ระบุว่า “ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงปรากฏเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของพลเรือน เด็ก ผู้นำศาสนา และสามเณรถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อหลักศาสนธรรมของทุกศาสนา กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานซึ่งทุกฝ่ายในสังคมมีพันธกิจร่วมกันในการยุติความรุนแรง และส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืน

ในนามของประธานสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัวของผู้เสียชีวิตพร้อมขอประณามการใช้ความรุนแรง ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใด และไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นบุคคลทั่วไป เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือโครงสร้างพื้นฐานใดๆ เพราะความรุนแรงไม่เคยนำไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอเชิญชวนทุกภาคส่วน ในสังคมไทย ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปร่วมมือกันสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” และร่วมกันดำเนินการ ดังนี้ :

  1. ใช้สติและความอดกลั้น ในการแสดงออกและแก้ไขข้อขัดแย้ง หลีกเลี่ยงการตอบโต้ด้วยถ้อยคำหรือการกระทำที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงเพิ่มเติม
  1. สร้างพื้นที่กลางและพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน เพื่อคุ้มครองพลเรือน เด็กและผู้นำศาสนา ให้มีสถานที่สำหรับการเรียนรู้ การเจรจา และการดำรงชีวิตอย่างปลอดภัย
  1. ส่งเสริมกระบวนการพูดคุย สร้างความเข้าใจและฟื้นฟูความไว้วางใจ ระหว่างประชาชนและหน่วยงานรัฐ ผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกฝ่าย
  1. ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและนิติธรรม เป็นแนวทางการอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อป้องกันมิให้ความรุนแรงกลายเป็นวงจรที่ไม่รู้จบ

สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอยืนยันพันธกิจที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งในระดับท้องถิ่น ชาติ และสากล เพื่อร่วมกันฟื้นฟูสันติภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างสังคมแห่งความไว้วางใจและสันติสุขบนฐานของ สติ ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการมีส่วนร่วมของประชาชน”

จากข้อเสนอแนะดังกล่าว กอร์ปกับการลงพื้นที่พบผู้นำทุกภาคส่วน ตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อ 3 เมษายน 2568 สะท้อนว่า ท่านจะใช้กลไกของสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กลไก แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งท่านได้สัมภาษณ์ก่อนนี้ และเปิดเผยต่อผู้เขียน “ดึงทุกภาคส่วนใช้ทุกช่องทางภายใต้อำนาจ ภายใต้ พ.ร.บ.พระราชบัญญัติ การบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปด้วยกัน"

ด้านบาบอฮุสณี บินหะยีคอเนาะ ผู้รู้ศาสนา/ผู้บริหาร โรงเรียนศาสนบำรุง อ.จะนะ จ.สงขลา ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว สงขลาโฟกัส บาบอฮุสณี กล่าวว่า ฝ่ายศาสนามีความรู้สึกหดหู่ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจเหมารวมว่าเป็นเรื่องศาสนา แต่ความจริงประเด็นของศาสนามาทีหลัง แต่เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งกันมากกว่า ซึ่งเห็นได้ชัดว่าฝ่ายที่สร้างความรุนแรงไม่สนใจหรือยอมรับการนำของผู้นำศาสนาที่ไม่เป็นไปตามแนวทางของเขาอยู่แล้ว แม้แต่จุฬาราชมนตรีเขาก็ไม่ฟัง หรือคณะกรรมการอิสลามที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของเขา ๆ ก็ไม่ให้ความสำคัญ

“นี่เป็นโจทย์ยาก เพราะผู้ก่อการเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วม มีศักยภาพความสามารถใหม่ๆ ต่างกับรุ่นเก่า และค่อนข้างเป็นอิสระจากความคิดคนรุ่นก่อน นี่เป็นเรื่องใหม่และสำคัญมากที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ” บาบอฮุสณี กล่าว และว่า

เรื่องหนึ่งที่เขามองคือ แม้ว่าจุฬาฯประกาศว่าพื้นที่ไม่ใช่ดินแดนสงคราม หรือดารุลหัรบี แต่ในความเป็นจริงฝ่ายก่อการก็มองว่าในการปฏิบัติภาครัฐดำเนินการเหมือนดินแดนสงคราม เช่น การใช้พรก.ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ต่างๆ ก็ยังมีการประกาศใช้ การสร้างสันติภาพต้องให้หลายฝ่ายมาคุยกัน ทั้งปีกการเมืองต้องเข้มแข็งกว่าปีกที่ต้องการใช้อาวุธ ต้องให้แต่ละฝ่ายเห็นประโยชน์ของการหาทางออกโดยการเมือง การพูดคุย เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้เขาสู้บนดิน หรือแม้แต่หากเขาต้องการตั้งพรรคการเมืองเข้ามาสู้กันในสภาฯ

ทุกฝ่ายต้องมาร่วมกันประเมินและไตร่ตรองว่าการดำเนินการของภาครัฐเพื่อให้เกิดความสงบสุขไม่ใช่การเอาชนะ แต่เป็นการร่วมกันสร้างความเจริญให้กับพื้นที่ และประเทศโดยรวม ทุกฝ่ายต้องเปิดใจ

”เราต้องการผู้นำประเทศที่เข้ามาแก้ปัญหาจริงๆ เพื่อให้เกิดความสันติสุขในระยะยาว”

บาบอฮุสณี กล่าวต่อว่า จากการสังเกตุของคนในพื้นที่ "ฝั่งผู้ก่อการไม่พอใจการขยับตัวแรงของอดีตนายกฯทักษิณ ที่ลงมาในพื้นที่ และมีการจับมือกับฝั่งมาเลเซีย สร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายตรงข้ามรัฐ“

“จากข่าวสารที่คุยกันในร้านน้ำชาว่ามีการยื่นข้อเสนอให้มาเลเซียส่งคนไทยที่อยู่มาเลเซียกลับมา โดยคนที่หนีไปอยู่มาเลเซียจะเป็นกลุ่มรุ่นเก่า ซึ่งคนรุ่นใหม่กลุ่มใหม่ไม่ได้ไป น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงครั้งใหม่”

ซึ่งการขยับตัวของอดีตนายกฯ ครั้งนี้ถือเป็นหัวเชื้ออีกคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นที่ทำให้เกิดเหตุการณ์มาจนทุกวันนี้ เป็นลักษณะวันแมนโชว์อีก และกับกลุ่มต่อต้านที่เป็นคนรุ่นใหม่ๆ ก็แสดงศักยภาพว่าเขาเองก็ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญกับใครหรือแนวคิดใดที่ไม่ตรงกับความคิด ความต้องการของเขาแม้แต่กับมาเลเซีย

ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก อาจารย์ซูโกร์ ดินอะ

#สถานการณ์ชายแดนใต้ #แถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง #ขดดะรีบินเซ็น #บาบอฮุสณี #วิเคราะห์สถานการณ์ #ThePoligensNews

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *