โดยตูแวดานียา ตูแวแมแง

ความริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยการนำของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 หลังจากที่รัฐบาล คสช.ประยุทธ์ 1 ล้มเหลวในการพูดคุยสันติสุขกับทาง MARA PATANI หรือ ที่รู้จักกันในชื่อเรียกขานเป็นภาษาอังกฤษว่า "Initiative Berlin"
ระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายไทย โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้แต่งตั้ง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย กับ คณะพูดคุยฝ่ายองค์กรลับ BRN ซึ่งมี นายหีพนี มะเร๊ะ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยแบบไม่มีเอกสารการแต่งตั้งจากประธานหรือเลขาธิการ BRN โชว์ต่อสาธารณะเหมือนกับทางฝั่งของรัฐบาลประยุทธ์
แต่มีทางองค์กรเอ็นจีโอของฝรั่งด้านกระบวนการสันติภาพที่มีชื่อว่า HDc ชื่อเต็มว่า Humanitarian Dialogue center เป็นคนยืนยันสถานะของ นายหีพนี ดือเร๊ะ ว่าได้รับ "แมนเดต" จากผู้นำในองค์กรลับ BRN จริง

สำหรับการดำเนินการของ Initiative Berlin นั้น HDc รับบทบาทเป็น "ผู้อำนายความสะดวก" ในการพูดคุย ท่ามกลางทางรัฐบาลมาเลเซียไม่ได้รับรู้เห็นเป็นใจใดๆเลยแม้แต่น้อย
วันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ทั้งสองฝ่าย รัฐไทยโดยการนำของรัฐบาลประยุทธ์ 2 ผ่านทาง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ และ องค์กรลับ BRN โดยการนำของ นายหีพนี มะเร๊ะ ก็ได้ตกลงกันเบื้องต้นที่จะ "ออกแบบกระบวนการพูดคุยสันติสุข จชต. ร่วมกัน ซึ่งทางฝ่ายรัฐไทยยอมที่จะ "ยอมรับ" เรียกขานประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า "Community Patani" แปลเป็นไทยว่า "ประชาคมปาตานีหรือชุมชนปาตานี" และองค์กรลับ BRN ยอมที่จะตกลง "แสวงหาทางออกภายใต้กรอบรัฐเดี่ยวตามรัฐธรรมนูญไทย"
ทั้งหมดนี้ คือใจความสำคัญของความเป็นมาเป็นไปของ “ความริเริ่มเบอร์ลิน” หรือ "Initiative Berlin" นั่นเอง


จะเห็นได้ว่าต้นทางของ Initiative Betlin นั้น เกิดขึ้นมาโดย "เจตจำนงทางการเมืองหลัก" ของ "ผู้นำฝ่ายบริหารของรัฐบาลไทย" เวลานั้นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งเน้นแค่เพียงต้องการ "รักษาภาพลักษณ์" ประเทศไทยต่อประชาคมระหว่างประเทศ ว่าประเทศไทยไม่ใช่มุ่งแต่จะ "ปราบราม" ผู้เห็นต่างจากรัฐหรือจากองค์กรลับ BRN เพียงสถานเดียว
การพูดคุยเพื่อสันติสุขกับ "พลเมืองไทยที่คิดต่างจากรัฐ" ก็มีเหมือนกัน แต่ที่แน่ๆ คือ "องค์กรลับ BRN" ในสายตาของรัฐบาลประยุทธ์ทั้ง 1 และ 2 นั้น พวกเขาไม่ได้มีสถานะเป็น "คู่ขัดแย้ง" อย่างเป็นทางการของรัฐไทย และไม่ได้มีสถานะเป็น "คู่สงคราม" ที่ต้อง "คลี่คลาย" หรือ "ไกล่เกลี่ย" ด้วยการตั้งโต๊ะเจรจา
เพราะว่าสถิติการสูญเสียชีวิตตลอดการสู้รบยังมีไม่มากพอที่ทางองค์กรระหว่างประเทศจะ "กล้าหาญ" เข้ามา "กดดัน" รัฐไทยให้ขึ้นโต๊ะเจรจาได้
ส่วนคำว่า "คู่เจรจา" เป็นแค่ "วาทกรรม" ของทางองค์กรลับ BRN อาจจะสร้างกระแสให้มวลชนของตัวเองรู้สึกว่าพวกตนมีศักยภาพในการต่อสู้เท่านั้นเอง หรือไม่

สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตของกระบวนการพูดคุย Initiative Berlin
1 เหตุใดรัฐบาลประยุทธ์ที่ห่วงกังวลมากกับการยกระดับความขัดแย้ง จชต.ไปสู่เวทีระหว่างประเทศ จึงยอมให้ HDc มาเป็นผู้สนับสนุนและผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย
2 เหตุใดองค์กรลับ BRN ถึงยอมให้คนเข้าใจว่า ได้ให้แมนเดตกับ นายหีพนี มะเร๊ะ ผู้ต้องหามีหมายจับคดีความมั่นคง เป็นหัวหน้าคณะพูดคุย ดำเนินการพูดคุยกับทางรัฐบาลที่เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหารในปี 2557 โดย คสช. ทั้งๆที่องค์กรลับ BRN น่าจะรู้ดีอยู่แล้วหรือไม่ว่า รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีความเป็น "ประชาธิปไตยซ่อนรูปเผด็จการ" ไม่มีทางที่จะยอมรับองค์กรลับ BRN เป็นคู่ขัดแย้งด้วยซ้ำ การเป็นคู่เจรจานั้นไม่ต้องพูดถึง
3 เหตุใดประเทศมาเลเซียถึงไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆเลยกับทุกขั้นตอนของ Initiative Berlin
4 เหตุใด HDc ถึงมาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก ของกระบวนการพูดคุย Initiative Berlin แทนประเทศมาเลเซีย
5 เหตุใดรัฐบาลประยุทธ์ 2 ถึงตัดสินใจพูดคุยกับ นายหีพนี ดือเร๊ะ ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยขององค์กรลับ BRN ทั้งๆที่ยังไม่มีการตรวจสอบยืนยันอย่างเป็นเอกภาพจากสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ ข่าวกรองจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ข่าวกรองจากตำรวจสันติบาล และข่าวกรองจากตำรวจสันติบาลประเทศมาเลเซีย
เป็นไปได้ไหมว่าข้อสังเกต 5 ข้อข้างต้นนี้ จะไม่เกิดขึ้นเลย หากว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพ หรือแนวทางการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ จชต.ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม มีสถานะเป็น "วาระแห่งชาติ" โดยเจตจำนงทางการเมืองตาม "วิถีทางประชาธิปไตย" รองรับด้วยนโยบายของรัฐบาล และหรือโดยมีกฎหมายรองรับกระบวนการสันติภาพ ผ่านการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎร
หรืออาจเป็นเพราะว่า Initiative Betlin ทำให้มีข้อสังเกตอย่างน้อยๆ 5 ข้อข้างต้น รัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยพรรคเพื่อไทย จึงยังไม่มีท่าทีออกมาอย่างชัดเจนว่า จะสนับสนุน "สานต่อ" กระบวนการพูดคุยสันติสุขที่มี "แกนหลัก" อยู่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ที่มีความสัมพันธ์ "ใกล้ชิด" กับอดีตรัฐบาลประยุทธ์โดยตัวบุคคล
และโดยโครงสร้างทางกฎหมายเองนั้นรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารก็ยังไม่มีความชอบธรรมที่จะกำกับทิศทางให้เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยมากกว่าวิถีทางของ "อำนาจนิยมอิงเผด็จการทหาร"


จากปรากฏการณ์ที่มีหลายภาคส่วนได้วิพากษ์วิจารณ์ต่อท่าทีของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เยือนและพบปะกับ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาว่า "ไม่ให้ความสำคัญ" กับ การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เหตุเพราะว่านายกฯอุ๊งอ๊งไม่ได้ "แต่งตั้ง" คณะพูดคุยฝั่งไทยเพิ่อ "รับลูก" กับทางคณะพูดคุยฝั่งองค์กรลับ BRN "ชุดเดิม" ก็คือชุดของ Initiative Berlin
สำหรับผู้เขียนแล้ว อาจจะเร็วมากเกินไปหรือไม่ ถ้าจะสรุปว่ารัฐบาลปัจจุบันที่นำโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ซึ่งมีผู้เป็นบิดาที่มีนามว่า "ทักษิณ" ซึ่งในทางการเมืองระดับภูมิภาคนั้น มีดีกรีถึงได้รับการแต่งตั้งจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในตำแหน่งประธานอาเซียน ว่าไม่ให้ความสำคัญกับ "ภารกิจดับไฟใต้"
เพราะไม่แน่ว่า กระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่โดยรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร หรืออาจจะเรียกว่าเป็น "Initiative Thaksin" นั้น อาจจะมี "กระบวนทัศน์" ที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับ Initiative Berlin ซึ่งเป็น "มรดกตกทอด" ของรัฐบาล คสช. ก็เป็นไปได้ หรือไม่
เพราะที่แน่ๆ "สันติภาพตามวิถีทางประชาธิปไตย" นั้น ย่อมไม่เหมือนกับ "สันติสุขตามวิถีทางอำนาจนิยมเผด็จการทหาร" อยู่แล้วหรือไม่
ส่วนจะมีความต่างเป็นอย่างไรนั้น โปรดเปิดใจให้กว้างและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกันต่อไปนะครับ



.
#อาจจะเร็วเกินไปถ้าจะสรุปว่ารัฐบาลแพทองธารไม่ให้ความสำคัญกับภารกิจดับไฟใต้
#สันติภาพตามวิถีทางประชาธิปไตย #ThePoligensNews
ขอบคุณภาพประกอบจาก Google