สภาประชาสังคมชายแดนใต้ เสนอนายกฯ “แก้มหาอุทกภัย67”

7 ธันวาคม 2567 นางสาวลม้าย มานะการ

ประธานสมาคมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้เปิดเผยว่า หลังจากเครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้ได้ลงพื้นที่และทำเวทีถอดบทเรียน(ออนไลน์) ถึงบทเรียน วิกฤตน้ำท่วมใหญ่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งนี้ จึงได้ทำหนังสือ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร

“ข้อเสนอการจัดการสถานการณ์มหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ พฤศจิกายน 2567” ดังนี้

#ข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีจากสมาคมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ 

เรื่อง ข้อเสนอการจัดการสถานการณ์มหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ พฤศจิกายน 2567

เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร

ด้วยสถานการณ์มหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาคมสภาประชาสังคมชายแดนใต้จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อการจัดการสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ดังนี้

1. การตอบสนองวิกฤติ (Response Phase)

ข้อค้นพบ

1. การสื่อสารในช่วงวิกฤติยังขาดความครอบคลุมและความชัดเจน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่เพียงพอและทันท่วงที

2. มีการทำงานที่ไม่ประสานกันระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม

3. กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก สตรี และผู้พิการ มักขาดการเข้าถึงความช่วยเหลือที่เหมาะสมในสถานการณ์ภัยพิบัติ

4. ไม่มีระบบหรือกลไกเฉพาะที่คำนึงถึงความต้องการพิเศษของกลุ่มดังกล่าวในแผนการจัดการภัยพิบัติ

ข้อเสนอ

1. จัดตั้งศูนย์สื่อสารภัยพิบัติแบบรวมศูนย์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็ว และหลากหลายช่องทาง เช่น SMS วิทยุชุมชน และสื่อออนไลน์

2. พัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเพื่อการแจ้งเตือนภัยและการประสานงาน เช่น แอปพลิเคชันที่สามารถรายงานสถานการณ์น้ำท่วมและสถานะความช่วยเหลือได้แบบเรียลไทม์

3. จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม (Child-Friendly & Inclusive Spaces) ในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อดูแลเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และคนพิการ

4. จัดทีมอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับการดูแลกลุ่มเปราะบางให้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ประสบภัย

5. จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วม (War Room) ที่ผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือและจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างเป็นระบบและบูรณาการ

2. การฟื้นฟูและลดผลกระทบ (Recovery & Mitigation Phase)

ข้อค้นพบ

1. การระบุพื้นที่ผู้ประสบภัยล่าช้าและขาดการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ที่เหมาะสม

2. การประสานงานระหว่างหน่วยงานไม่เป็นระบบ ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม

ข้อเสนอ

1. ใช้เทคโนโลยีเช่น โดรน และแผนที่ดิจิทัล เพื่อสำรวจพื้นที่ประสบภัยและช่วยระบุลำดับความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ

2. สร้างกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเอกชน โดยแบ่งปันทรัพยากรและข้อมูลร่วมกัน

3. จัดทำฐานข้อมูลเฉพาะสำหรับเด็ก สตรี และคนพิการ เพื่อประสานการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น การส่งมอบยา เวชภัณฑ์ และบริการพิเศษในพื้นที่ภัยพิบัติ

4. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในศูนย์พักพิงให้เหมาะสมกับการใช้งานของคนพิการ เช่น ทางลาด ห้องน้ำที่เข้าถึงได้

3. การเตรียมพร้อมและลดความเสี่ยง (Preparedness & Risk Reduction Phase)

ข้อค้นพบ

1. ขาดระบบการเตือนภัยที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

2. ขาดความรู้ในชุมชนเกี่ยวกับการรับมือภัยพิบัติ

ข้อเสนอ

1. ขยายระบบการเตือนภัยให้ครอบคลุมและเหมาะสมกับทุกกลุ่ม เช่น การแจ้งเตือนผ่าน SMS และการใช้วิทยุชุมชน พัฒนาระบบการแจ้งเตือนที่มีการปรับแต่งข้อความให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น การแจ้งเตือนด้วยเสียงสำหรับคนพิการทางสายตา หรือการใช้ SMS และสัญญาณภาพสำหรับคนพิการทางการได้ยิน

2. จัดทำหลักสูตรการรับมือภัยพิบัติในโรงเรียนและชุมชน โดยร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม

3. จัดทำแผนการฝึกซ้อมอพยพและอบรมการรับมือภัยพิบัติที่เหมาะสมสำหรับเด็ก สตรี และคนพิการ โดยเน้นการสื่อสารที่เข้าใจง่าย เช่น การใช้ภาพประกอบหรือภาษามือ

4. รวมตัวแทนจากกลุ่มเด็ก สตรี และคนพิการเข้าร่วมในคณะกรรมการหรือกลไกการวางแผนจัดการภัยพิบัติ

5. ใช้สื่อที่หลากหลาย เช่น การ์ตูน แอนิเมชัน หรือการบรรยายเสียง สำหรับเด็กและคนพิการทางสายตา เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลการเตือนภัย

ข้อเรียกร้องเพิ่มเติม

1. สนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรเพื่อพัฒนาระบบตอบสนองภัยพิบัติให้มีความยั่งยืน

2. เปิดโอกาสให้กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก สตรี ผู้พิการ และเยาวชน ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการจัดการภัยพิบัติ

สมาคมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่านายกรัฐมนตรีจะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนและการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน

ขอแสดงความนับถือ

(นางสาวลม้าย มานะการ)

ประธานสมาคมสภาประชาสังคมชายแดนใต้

7 ธันวาคม 2567

สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี พฤศจิกายน 2567